ศาลอาญาสั่งถอนประกัน”ทานตะวัน” นักศึกษากลุ่มทะลุวัง โพสต์เฟซบุ๊กเวลาขบวนเสด็จ ผิดมาตรา 112 ถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (20 เม.ย.) ศาลอาญานัดฟังคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว คดีหมายเลขดำฝ. 252/2565 ที่พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้อง ขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักศึกษาสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 112
กรณีวันที่ 5 มี.ค.2565 ผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊ก มีเจตนาพิเศษ ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ ตาม ป.อาญามาตรา 112, ม.138 ว.2 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ม.368 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยวางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท ให้ใส่กำไลอีเอ็ม และห้ามกระทำการอันเป็นการเสื่อมพระเกียรติ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ปรากฏภาพของผู้ต้องหาโพสต์หมายกำหนดการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นหมายกำหนดการของวันที่ 17 มี.ค.2565 แสดงว่าผู้ต้องหาทราบหมายกำหนดการเสด็จแล้ว แต่ผู้ต้องหายังคงเดินทางไปบริเวณที่มีการเสด็จตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. และอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ตลอดระยะเวลาที่ผู้ต้องหาอยู่ในบริเวณดังกล่าวผู้ต้องหาโพสต์ข้อความบรรยายถึงพื้นที่โดยรอบ โดยมิได้มุ่งหมายเข้าร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง แม้ผู้ต้องหาจะระบุข้อความว่า “จะไปกินแมคก็ไม่ยอมให้ไปเพราะขบวนเสด็จพ่อหลวงจะผ่านตรงนั้นทรงพระเจริญ” ตามเอกสารท้ายคำร้องแต่หากผู้ต้องหาต้องการไปรับประทานอาหารจริงผู้ต้องหาสามารถระบุสถานที่รับประทานอาหารได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวได้ แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้นผู้ต้องหามุ่งที่จะเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
อีกทั้งการที่ผู้ต้องหาโพสต์ภาพตามเอกสารท้ายคำร้องพร้อมบรรยายข้อความว่า “ขบวนเสด็จเดือดร้อน?” แม้จะเป็นภาพที่ผู้ต้องหาเคยโพสต์มาก่อน แต่ผู้ต้องหาก็เลือกที่จะโพสต์ภาพดังกล่าวได้อีกหรือไม่ก็ได้ การที่ผู้ต้องหาเลือกโพสต์ข้อความดังกล่าวอีกครั้งถือว่าผู้ต้องหากระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ อีกทั้งผู้ต้องหารับข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2565 และวันที่ 15 เม.ย.2565 ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการรับเสด็จตามเอกสารที่ศาลให้ตรวจดู ถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงให้เพิกถอนคำสั่งคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ตนได้นั่งฟังคำสั่งเพิกถอนของศาล แล้วตั้งข้อสังเกตเรื่องการที่ศาลนำเรื่องนอกสำนวนมาพิจารณา อาทิ เหตุการณ์ที่ระบุในคำสั่งของวันที่ 6 เม.ย. ซึ่ง น.ส.ทานตะวันจะเดินทางไปรับเสด็จบริเวณศาลหลักเมือง วันที่ 15 เม.ย. ผู้ต้องหาเดินทางไปกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรณีมีเด็กอายุ 13 ปีถูกจับกุมตนยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่มีการไต่สวนคำร้องเรื่องนี้ จึงเท่ากับว่าไม่ใช้เหตุการณ์ที่อยู่สำนวนตอนต้น ที่ตำรวจยื่นเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ส่วนด้าน น.ส.ทานตะวันเองก็ได้มีการเตรียมใจไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ทำใจได้ แต่มีผลกระทบกับการใช้ชีวิต การเรียนอย่างแน่นอน สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอรออ่านคัดถ่ายคำสั่งแล้วมาปรึกษากับตัว น.ส.ทานตะวันก่อน อาจจะไม่ได้ยื่นในวันนี้แต่จะรีบดำเนินการโดยเร็วอย่างแน่นอน
ด้าน น.ส.ทานตะวัน เปิดเผยก่อนฟังคำสั่งว่า จะมีคนมาคอยเฝ้าหน้าบ้านจอดรถตามซอกซอย และขับรถติดตามเวลาเดินทางออกนอกบ้าน พบแบบนี้หลายครั้ง อย่างล่าสุดมีกรณีที่ ทางคนติดตามได้ขับรถและปาดหน้ารถยนต์ของตนที่นั่งอยู่ซึ่งเป็นเรื่องตนรู้สึกว่าอันตรายมากๆ ส่วนที่แน่ใจได้ว่าเป็นทางตำรวจจริง เนื่องจากมีทางตำรวจสันติบาลโทรมาระบุว่าผู้ที่ติดตามเป็นรุ่นน้องของเขาเอง ที่ผ่านมาตนได้พยายามจะขอเจรจาพูดคุยว่า กับคนที่ติดตามว่าทำไปเพื่ออะไรแต่ว่าเขาไม่ยอมลงมาตอบคำถาม หรือคุยกับเราเป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง
น.ส.ทานตะวัน กล่าวต่อว่า การใส่กำไล EM นั้นทำให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการ อย่างเช่นกรณีแบตหมดที่เร็วมากบางครั้งต้องตื่นมากลางดึกเพื่อชาร์ทแบต และก็เวลาอาบน้ำทำความสะอาดไม่สะดวก เช็ดล้างยาก จึงได้ปรึกษากับทนายแล้วว่า เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักระยะ อาจมีการขอถอดกำไลอีเอ็มออก เนื่องจากศาลมีเงื่อนไขกำหนดหลายข้ออยู่แล้ว และไม่คิดหลบหนีไปไหนแน่นอน เพราะกำลังวางแผนจะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/crime/