อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ใกล้เข้ามาแล้วก็คือ “สารทจีน” โดยจะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน และเมื่อดูตามปฏิทินสากลพบว่าวันสารทจีนในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 2 กันยายน 2563
สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนก็คงทราบถึงสำคัญของวันสารทจีนกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ใหญ่คนรุ่นพ่อแม่หรืออากงอาม่าที่บ้าน แต่สำหรับน้องๆ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ จะรู้หรือป่าวว่า “วันสารทจีน” มีความสำคัญและมีที่มาอย่างไร โดยเฉพาะบางคนก็ยังสงสัยไปอีกว่า “สารทจีน” แตกต่างกับ “ตรุษจีน” ยังไงบ้าง? วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะชวนมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน
“สารทจีน” VS “ตรุษจีน” แตกต่างกันยังไง?
เชื่อว่ามีหลายคนทีร่ยังสับสนเกี่ยวกับวันสารทจีนและวันตรุษจีน บางคนก็งงว่าทั้งสองประเพณีนี้ใช่อันเดียวกันไหม? คำตอบคือ ไม่ใช่! ทั้งสองประเพณีนี้ไม่เหมือนกัน คำถามต่อมาคือ แล้ววันสารทจีนและวันตรุษจีนมันต่างกันยังไง?
คำตอบคือ
“วันตรุษจีน” คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสานจีนก็จะฉลองวันตรุษจีนกันทุกปี เปรียบเทียบเหมือนวันสงกรานต์ที่เป็นวันปีใหม่ของไทยนั่นเอง อีกทั้งการซื้อของไหว้ และการตั้งโต๊ะไหว้ในวันตรุษจีน จะเน้นไหว้เจ้าเป็นหลัก และจัดเครื่องไหว้แบบจัดเต็มมากๆ และไหว้กันหลายรอบ
ส่วน “สารทจีน” เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ส่วนของไหว้และการตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษก็จะไม่ได้จัดเต็มเท่าวันตรุษจีน
แต่เนื่องจากวันตรุษจีนนั้นนอกจากจะต้องเตรียมของไหว้เทพเจ้าประจำปีใหม่แล้ว ก็ยังมีบางช่วงของวันปีใหม่ที่มีการตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษด้วยเช่นกัน (ส่วนวัน “สารทจีน” แต่วันที่จะไหว้บรรพบุรุษหรือไหว้ผีเป็นหลัก) ดังนั้นจึงมีความทับซ้อนกันนิดหน่อย และอาจเป็นเหตุผลให้หลายคนเกิดความสับสนดังกล่าว
ที่มา “สารทจีน” ทำไมต้องจัดอาหารไหว้ผีบรรพบุรุษ?
สำหรับความเป็นมาของประเพณี “สารทจีน” นั้น ว่ากันว่าเดือน 7 เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดเพื่อพิพากษาส่งดวงวิญญาณไปสู่นรกหรือขึ้นสวรรค์ ตามแต่ผลบุญกรรมที่ได้ทำมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะได้มีโอกาสกลับบ้านมาหาลูกหลาน จึงต้องมีการตระเตรียมอาหารคาว หวาน ผลไม้ จานโปรด และเครื่องดื่มเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของท่านเพื่อแสดงความกตัญญู อีกทั้งยังมีเรื่องราวหลักๆ ที่ชาวจีนเชื่อกันมีอยู่ 2 ตำนาน ได้แก่
– ตำนานที่ 1: วันสารทจีนเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
– ตำนานที่ 2: มีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อ “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วง “เทศกาลกินเจ” นางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงออกอุบายให้คนถือศีลมากินอาหารเจที่บ้าน แต่นางผสมมันหมูลงไปด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุด
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ก็ทำไม่ได้ ทั้งถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด และแม้จะป้อนได้แต่เม็ดข้าวนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ปาก แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส มู่เหลียนได้เข้าไปขอ “เหงี่ยมล่ออ๊อง” (ยมบาล) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
แต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน และให้ทางออกกับปัญหานี้ว่าให้มู่เหลียนสวดคัมภีร์อิ๋วหลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาผ่านกิจกรรมการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และนำกระดาษเงินกระดาษทอง ไปวางไว้ที่หน้าบ้านพร้อมจุดธูป 1 ดอก เรียกวิญญาณบรรพบุรุษมารับอาหารหรือของไหว้ที่ลูกหลานตั้งไว้ให้
ของไหว้ “สารทจีน” แตกต่างกับ ของไหว้ตรุษจีนยังไง?
สำหรับเรื่องการจัดเตรียมของไหว้ สำหรับวัน “สารทจีน” ก็มีความแตกต่างกันกับของไหว้ “ตรุษจีน” เช่นกัน
ของไหว้วันตรุษจีน
โดยหากเป็นของไหว้วันตรุษจีน จะเน้นเตรียมของไหว้ที่เป็นอาหารเจ เช่น เต้าหู้ เห็ดหอม เห็ดหูหนู วุ้นเส้น ผลไม้มงคล ข้าวสวย น้ำชา เพื่อนำมาไหว้เจ้าได้แก่ ไหว้เทพเจ้าโชคลาภ และไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาประจำปี นอกจากนี้ในวันตรุษจีนยังมีการไหว้เจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้บรรพบุรุษ และให้ทานสัมภเวสีด้วย ซึ่งของไหว้ในกลุ่มหลังก็จะเป็นอาหารคาวและของหวานที่มีความหมายมงคล
ของไหว้วันสารทจีน
ส่วนของไหว้ในประเพณี “สารทจีน” นั้น เนื่องจากเป็นวันที่เน้นไหว้ผีบรรพบุรุษเป็นหลัก ดังนั้นของไหว้จึงต้องใช้เป็นอาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ โดยเน้นเมนูที่บรรพบุรุษชื่นชอบ รวมถึงในวันสารทจีนก็ยังมีการไหว้เจ้าที่ และไหว้ผีไม่มีญาติเพื่อเป็นการให้ทานอีกด้วย ดังนั้นสรุปได้ว่าของไหว้ของตรุษจีนจะเน้นของไหว้เจ้าซึ่งจะเป็นอาหารเจ ผลไม้ และอาหารมงคล ส่วนของไหว้วันสารทจีนจะเน้นอาหารคาวหวานทั่วไปที่ญาติผู้ล่วงลับชื่นชอบ และอาจรวมถึงอาหารมีความหมายมงคลด้วย
- ของไหว้ “สารทจีน” ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
ของไหว้ที่ใช้ในวันสารทจีนแม้ว่าบางส่วนจะมีความคล้ายกับของที่ใช้ไหว้วันตรุษจีน แต่หลักๆ แล้วจะต้องเตรียมของไหว้ ดังต่อไปนี้
– เนื้อสัตว์ : ซาแซ (เนื้อสัตว์ 3 อย่าง) หรือโหงวแซ (เนื้อสัตว์ 5 อย่าง) เช่น เป็ดต้มพะโล้ ไก่ต้ม หมูต้ม หมูกรอบ ขาหมู ปลานึ่ง ปลาหมึก กุ้ง ปู
– ผลไม้ : ถัดมาก็ต้องเตรียมผลไม้มงคล 3 อย่างหรือ 5 อย่างก็ได้ เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ องุ่น แก้วมังกร ฝรั่ง สับปะรด กล้วยหอมหวีใหญ่
– ขนม : ขนมที่ขาดไม่ได้คือ “ขนมเข่ง” ส่วนขนมเทียนและขนมเปี๊ยะนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ และข้อสำคัญคือช่วงสารทจีนไม่นิยมใช้ขนมจันอับไหว้
ส่วนการจัดโต๊ะไหว้ “สารทจีน” นั้นจะแบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ครั้ง โดยแบ่งออกเป็น
1. ตั้งโต๊ะไหว้เจ้าที่
ควรไหว้กันในตอนเช้า โดยต้องเตรียมทั้งของคาว โดยเฉพาะขนมเทียนและขนมเข่งที่ต้องมีบนโต๊ะไหว้ ผลไม้ น้ำชาต่างๆ ให้จัดอาหารมงคลเหล่านี้ไว้บนโต๊ะ แล้วตั้งจิตอธิษฐาน พอไหว้เสร็จจากนั้นเผากระดาษเงินกระดาษทอง
2. ตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ
ไหว้ช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายก็ได้ โดยเตรียมอาหารของโปรดของเหล่ากงเหล่าม่า และจัดจาน ชาม เก้าอี้ ตามจำนวนของบรรพบุรุษที่จะไหว้ด้วย ขณะที่ไหว้ก็สามารถเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้าชุดใหม่ ชุดกงเต็ก ฯลฯ ไปพร้อทมๆ กันเลยก็ได้
3. ตั้งไหว้ผีไม่มีญาติ สัมภเวสี
ส่วนช่วงบ่ายแก่ๆ ก็อาจจะเพิ่มการตั้งโต๊ะไหว้ผีไม่มีญาติด้วย ถือเป็นการให้เกียรติของคนจีน เป็นการให้ทาน โดยการทำเช่นนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ไหว้ทำการงานลื่นไหลไม่ติดขัด ค้าขายดี มีความเจริญรุ่งเรือง